fbpx

รักษาอาการปวดเข่าอย่างไร แบบไม่ต้องผ่าตัด?

หลายคนคงเคยมีอาการปวดเข่า ข้อเข่าฝืดขัด ปวดร้าวไปถึงหน้าแข้ง โดยเฉพาะเวลาลุกนั่งหรือเดินขึ้นลงบันไดที่ต้องงอเข่ามากๆ ซึ่งเป็นสัญญาณที่บอกว่าข้อเข่าของเรากำลังมีปัญหาอะไรสักอย่าง

อาการปวดเข่านั้นอาจเกิดขึ้นชั่วคราว หรือเกิดแบบเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ ก็ได้ ขึ้นอยู่กับสาเหตุ ความรุนแรง และลักษณะความผิดปกติที่เกิดขึ้น ซึ่งการรักษาก็ย่อมแตกต่างกันออกไปด้วย ตั้งแต่การพักฟื้นเฉยๆ ให้อาการปวดหายเอง ไปจนถึงการผ่าตัดเพื่อรักษาเอ็น ข้อต่อ หรือกระดูกที่เสียหายให้กลับมาเป็นปกติ หากไม่สามารถบำบัดด้วยวิธีอื่นได้ผล

ปวดเข่าไม่ได้เป็นแค่คนแก่

อาการปวดเข่า ไม่ได้เป็นเฉพาะคนแก่

บางคนอาจเข้าใจว่าอาการปวดข้อเข่านั้นเป็นโรคคนแก่ ซึ่งไม่ใช่เสมอไป เพราะบ่อยครั้งอาการนี้ก็เกิดขึ้นกับคนวัยหนุ่มได้เหมือนกัน โดยสาเหตุของอาการปวดเข่าที่เราเจอได้บ่อยๆ ได้แก่

  • เกิดจากอุบัติเหตุที่มีการกระทบกระแทกข้อเข่า เช่น เล่นกีฬาแล้วเอ็นฉีกขาด หรือหกล้มแล้วข้อเข่าฟกช้ำ ข้อหลุด กระดูกร้าว ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการปวดเข่าที่พบได้บ่อยที่สุดในคนอายุน้อย
  • ข้อเข่าอักเสบ ซึ่งมักเกิดจากการใช้งานข้อเข่าอยากหนัก หรือมีแรงกดทับและแรงกระแทกที่ข้อเข่าอย่างต่อเนื่อง เช่น คนที่มีน้ำหนักตัวมาก คนทำงานยกของหนัก หรือต้องลุกนั่งบ่อยๆ โดยข้อเข่าอักเสบอาจเกิดขึ้นแบบเฉียบพลันหรือแบบเรื้อรังก็ได้
  • โรคข้อเข่าเสื่อม เกิดจากการใช้งานข้อเข่าเป็นเวลานานจนกระดูกอ่อนบริเวณนั้นสึกกร่อนลง กระดูกที่เข่าจึงโก่งงอผิดรูปและไปเสียดสีกับเนื้อเยื่อและเส้นเอ็น ทำให้มีอาการปวดเวลาเคลื่อนไหวเกิดขึ้น รวมถึงบางครั้งอาจได้ยินเสียงก๊อกๆ ขณะเดินด้วย โรคข้อเข่าเสื่อมมักเกิดกับผู้สูงอายุ แต่ก็พบในคนอายุน้อยได้เช่นกัน โดยเฉพาะคนที่มีแรงกระแทกกับข้อเข่าเยอะกว่าปกติ เช่น นักวิ่งมาราธอน หรือคนที่เคยมีกระดูกหักและเอ็นฉีกขาดมาก่อน
  • เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรัง เช่น โรครูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) หรือโรคเก๊าท์ (Gout) ทำให้มีอาการปวดข้อต่อทั่วร่างกาย
  •  มีการอักเสบของเนื้อเยื่อและกระดูกบริเวณรอบข้อเข่า เช่น ปุ่มกระดูกหน้าแข้งอักเสบ หรือ ถุงน้ำรอบข้อเข่าอักเสบ ซึ่งมักเจอในคนที่เล่นกีฬารุนแรง หรือมีน้ำหนักตัวมาก

อาการปวดเข่าแบบไหนควรรีบไปหาหมอ?

อาการปวดเข่าที่เกิดจากสาเหตุไม่รุนแรง อย่างการเดินหรือออกกำลังกายมากๆ ส่วนใหญ่จะหายเองได้ภายใน 1 – 2 สัปดาห์โดยที่เราไม่ต้องไปหาหมอ แต่หากอาการปวดเข่ามีลักษณะดังต่อไปนี้ นั่นอาจเป็นสัญญาณอันตรายที่เราไม่ควรวางใจ และต้องรีบไปพบแพทย์โดยด่วน

  • บริเวณรอบๆ ข้อเข่าบวมออกมา และร้อนกว่าปกติ
  • อาการปวดเข่านั้นมากขึ้นเรื่อยๆ หรือปวดจนขยับไม่ไหว และไม่มีทีท่าว่าจะเบาลง
  • มีอาการข้อติด ข้อขัด เคลื่อนไหวลำบาก
  • มีอาการชาหรือขาอ่อนแรงร่วมด้วย
  • มีต่อมน้ำเหลืองโต หรือมีไข้ร่วมด้วย

ปรึกษาคุณหมอ ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

การรักษาอาการปวดเข่าแบบไม่ต้องผ่าตัด

การผ่าตัดข้อเข่าอาจจำเป็นในกรณีที่คนไข้มีอาการข้อเข่าอักเสบหรือข้อเข่าเสื่อมในระยะรุนแรง หรือมีเอ็นฉีกขาด กระดูกเสียหาย ซึ่งไม่สามารถรักษาได้ด้วยวิธีอื่นๆ แต่ถ้าสาเหตุของอาการปวดเข่านั้นไม่หนักหนามาก คุณหมอก็มักแนะนำให้ใช้การรักษาที่ไม่ต้องพึ่งพาการผ่าตัด เพื่อลดความเสี่ยง หลีกเลี่ยงความเจ็บปวด และเพื่อไม่ให้คนไข้ต้องพักฟื้นนานเกินไป ซึ่งแนวทางดังกล่าวก็มีทั้งการรักษาแบบใช้ยาและไม่ใช้ยา

การรักษาแบบไม่ใช้ยา

การรักษาแบบไม่ใช้ยา

  • หากอาการปวดเข่านั้นเกิดขึ้นแบบชั่วคราวจากการออกแรงมาก ส่วนใหญ่จะสามารถหายเองได้จากการพักฟื้น หรือพักการเคลื่อนไหวหนักๆ สักระยะหนึ่ง รวมถึงเราอาจใช้การประคบร้อนสลับเย็นที่หัวเข่าเพื่อลดอาการปวดในช่วง 1 – 3 วันแรกด้วยก็ได้
  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดและป้องกันอาการปวดเข่าในอนาคต เช่น เปลี่ยนมานั่งเก้าอี้ที่เหมาะกับสรีระแทนการนั่งกับพื้น หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหักโหม รวมถึงลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์เพื่อลดแรงกดทับที่ข้อเข่า
  • เน้นการออกกำลังกายบริหารกล้ามเนื้อให้แข็งแรง โดยเฉพาะบริเวณต้นขา ซึ่งเป็นจุดที่จะช่วยรับแรงกระแทกของเข่า ร่วมกับการออกกำลังกายแบบโลว์อิมแพค อย่างการเดิน ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน หรือวิ่งช้าๆ เพื่อให้กล้ามเนื้อมีการผ่อนคลายตัวและเพิ่มความยืดหยุ่น ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บได้
  • ทำกายภาพบำบัดเพื่อลดอาการปวด ซึ่งเหมาะกับคนที่มีข้อเข่าเสื่อม ปวดเข่าเรื้อรัง หรือมีกล้ามเนื้อขาลีบ อ่อนแรง จนไม่สามารถรับน้ำหนักได้ตามปกติ

การรักษาแบบใช้ยา

  • ทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล รวมถึงยาแก้อักเสบทั่วๆ ไป ซึ่งสามารถใช้บรรเทาอาการปวดเบื้องต้นได้ แต่หากทานแล้วอาการปวดไม่ดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ ก็ควรหยุดทานยาแล้วไปพบแพทย์
  • หากบริเวณข้อเข่าเกิดการอักเสบ แพทย์อาจทำการฉีดยาสเตียรอยด์เข้าไปเพื่อลดการอักเสบเฉพาะที่ แต่ส่วนมากแพทย์มักไม่แนะนำให้ฉีดสเตียรอยด์มากเกินไป การใช้ยาฉีดสเตียรอยด์มีผลทำให้เส้นเอ็นบางลงและฉีกขาดได้ง่าย โดยเฉพาะในคนอายุน้อย เพราะผลึกของสเตียรอยด์อาจทำให้ข้อเข่าเสื่อมเร็วได้
  • ในคนไข้ที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อม แพทย์อาจฉีดน้ำไขข้อเทียมเพิ่มเข้าไปเพื่อหล่อลื่นและลดความฝืดขัดที่ข้อเข่า ซึ่งจะช่วยลดความเจ็บปวดขณะเคลื่อนไหวได้
  • ทานยาสมุนไพรรักษาอาการปวดเข่า เช่น ยาที่มีส่วนผสมของเซี่ยคูเฉ่า อิ้อิ๋เหริน และ ฝางจี่ ซึ่งเป็นสมุนไพรจีนที่มีสรรพคุณช่วยลดการอักเสบ ปวด บวม และฟื้นฟูอาการบาดเจ็บของข้อต่อ รวมถึงช่วยเพิ่มน้ำในข้อด้วย

สุดท้ายนี้ หากไม่อยากให้อาการปวดเข่าเรื้อรังต้องลงเอยด้วยการผ่าตัด เราก็ควรรีบปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันไม่ให้อาการปวดรุนแรงขึ้น รวมถึงมองหาสาเหตุที่ชัดเจนเพื่อจะได้รักษาและป้องกันอาการปวดเข่าให้ตรงจุดและได้ผลดีที่สุด


ปรึกษาปัญหาสุขภาพ