fbpx

อาการชาไปทั้งตัวเกิดจากอะไร?

อาการที่เกิดขึ้นตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น มือชา เท้าชา แขนและขาชา หรือร่างกายซีกใดซีกหนึ่งชาไปทั้งแถบ ล้วนเป็นอาการผิดปกติที่เราไม่ควรมองข้าม เพราะอาการเหล่านี้อาจบ่งบอกถึงความเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงขั้นเป็นสัญญาณอันตรายของโรคร้ายแรงก็ได้

อ่านถึงตรงนี้หลายคนอาจสงสัยว่าอาการชาไปทั้งตัวหรือชาตามส่วนต่างๆ เกิดจากอะไรบ้าง? อันตรายแค่ไหน? จะรักษายังไง? หรือต้องชาแค่ไหนถึงควรไปหาหมอ? … เรามาไขข้อข้องใจในบทความนี้กันดีกว่า!

สาเหตุของอาการชาตามร่างกาย

สาเหตุของอาการชาตามร่างกาย

อาการชาเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย อีกทั้งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงรุนแรง โดยสาเหตุของอาการชาตามร่างกายที่พบได้บ่อยๆ ได้แก่

ปรึกษาคุณหมอ ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

การทำงานซ้ำๆ หรืออยู่ในท่าเดิมนานๆ

ตัวอย่างเช่น การนั่งทำงานท่าเดิมทั้งวัน นั่งไขว่ห้างนานๆ การพิมพ์งานหรือเขียนหนังสือมากๆ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้จะทำให้เส้นประสาทบางส่วนถูกกดทับและเลือดไหลเวียนไม่สะดวก จนทำให้เกิดอาการชาเฉพาะจุดได้ เช่น ที่นิ้วมือ แขน ขา คอ และไหล่ โดยทั่วไปอาการชาจากสาเหตุนี้จะเกิดขึ้นแค่ชั่วคราวและไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด

เส้นประสาทบาดเจ็บเสียหาย

หากเส้นประสาทถูกกดทับอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานจากการทำงานหรืออยู่ในอิริยาบถซ้ำๆ อย่างเช่น หนุ่มสาวออฟฟิศที่นั่งทำงานหน้าคอมทั้งวันนานหลายปี หรือคนที่ต้องยกของหนักเป็นประจำ ก็มีโอกาสที่ปลอกหุ้มปลายประสาทจะอักเสบ หรือเกิดกล้ามเนื้อและข้อต่อบวมอักเสบเรื้อรังแล้วไปกดทับเส้นประสาทอีกทีหนึ่ง จนกลายเป็นสาเหตุของอาการชาถาวรได้ ซึ่งอาการชาอาจเกิดขึ้นเฉพาะจุดหรือทั้งแถบก็ได้ ขึ้นอยู่กับบริเวณเส้นประสาทที่ถูกกดทับ และบ่อยครั้งคนไข้ก็มักมีอาการปวดเสียว ปวดแปลบๆ หรือปวดตามข้อร่วมด้วย

หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

เป็นโรคยอดฮิตในผู้สูงวัย ซึ่งเกิดจากการที่หมอนรองกระดูกเสื่อม จนของเหลวคล้ายเจลที่อยู่ข้างในไหลออกมากดทับเส้นประสาทบริเวณหลัง และทำให้เกิดอาการปวดตึงหลัง ขาชา และบางคนอาจถึงขั้นเดินไม่ได้เลยก็มี ยิ่งคนที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น เคยยกของหนัก ทำงานที่ต้องก้มๆ เงยๆ เป็นประจำ หรือเคยประสบอุบัติเหตุมาก่อน ก็ยิ่งมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากขึ้น

อาการชาจากเบาหวาน

โรคเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมอาการได้ อาจส่งผลให้หลอดเลือดเกิดการแข็งตัว ตีบแคบลง จนไม่สามารถนำเลือดไปเลี้ยงเนื้อเยื่อและเส้นประสาทได้เพียงพอ ปลายประสาทจึงเกิดความเสียหายและเป็นที่มาของอาการชา โดยเฉพาะตามปลายมือ ปลายเท้า ซึ่งหากคนไข้ยังไม่สามารถควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ อาการชาก็จะยิ่งรุนแรงขึ้นจนอาจถึงขั้นสูญเสียความรู้สึกแบบถาวรได้

อาการชาจากหลอดเลือดตีบตัน

สาเหตุหลักที่ทำให้หลอดเลือดตีบตัน เกิดจากการมีไขมันไปอุดตันภายในหลอดเลือด ทำให้ผนังหลอดเลือดอักเสบเรื้อรังและหนาตัวขึ้น เมื่อหลอดเลือดขาดความยืดหยุ่นและมีช่องว่างภายในน้อยลง ก็จะไม่สามารถส่งเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ได้เพียงพอ รวมถึงเส้นประสาทด้วย ทำให้เกิดอาการชาตามมานั่นเอง ซึ่งภาวะนี้จะยิ่งอันตรายมากหากเกิดกับกับหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง

อย่างไรก็ตาม อาการชาที่มีสาเหตุมาจากหลอดเลือดตีบตัน มักมาพร้อมกับอาการอื่นๆ ด้วย เช่น ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ตาพร่ามัว แขนขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว เดินเซ ควบคุมการทรงตัวไม่ได้ ซึ่งเป็นสัญญาณอันตราย หากพบอาการเหล่านี้ก็ให้รีบไปหาหมอโดยด่วนที่สุด

ขาดวิตามิน B

อีกหนึ่งสาเหตุของอาการชาไปทั้งตัวที่พบได้บ่อย ก็คือการขาดวิตามินที่มีส่วนช่วยบำรุงระบบประสาท เช่น วิตามิน B1 ซึ่งช่วยสร้างและรับส่งสารสื่อประสาท วิตามิน B6 ที่ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในร่างกาย และวิตามิน B12 ที่ช่วยเรื่องการพัฒนาเซลล์ประสาท โดยคนที่ขาดวิตามินเหล่านี้มักมีอาการเหน็บชา หรือรู้สึกซ่าๆ ที่มือและเท้าแบบเป็นๆ หายๆ

สัญญาณของโรคอื่นๆ

บางครั้งอาการชาก็อาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติอื่นๆ ได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นภาวะขาดเกลือแร่ ฮอร์โมนไม่สมดุล เครียด ภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน โรคพิษสุราเรื้อรัง ได้รับสารพิษ หรือโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นต้น

การรักษาอาการชาตามร่างกาย

การรักษาอาการชาโดยส่วนมาก จะเน้นไปที่การรักษาโรคหรือความผิดปกติที่เป็นสาเหตุ แต่บางครั้งถ้าอาการชานั้นรุนแรงมากจนกระทบต่อการใช้ชีวิตของคนไข้ ก็อาจต้องรักษาที่ปลายเหตุควบคู่กันไปด้วย

ตัวอย่างแนวทางรักษาและป้องกันอาการชาไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำที่แพทย์มักแนะนำบ่อยๆ ได้แก่

  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในท่าเดิมนานๆ หรือทำงานแบบเดิมซ้ำๆ หากเริ่มมีอาการปวดตึงและเกร็งขณะทำงาน ก็ควรหยุดพักหรือลุกขึ้นยืดเส้นยืดสายปรับเปลี่ยนอิริยาบถบ้าง
  • หลีกเลี่ยงการยกของหนัก หรือหากจำเป็นก็ให้ศึกษาท่ายกของที่ถูกต้องเพื่อลดการบาดเจ็บของหมอนรองกระดูกและข้อต่อ
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อให้กล้ามเนื้อและข้อแข็งแรง ซึ่งจะช่วยป้องกันการบาดเจ็บ อาการปวดตามข้อ และลดความเสี่ยงต่อการเกิดเส้นประสาทเสื่อมได้
  • พยายามควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุของอาการชา อย่างโรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคอ้วน ซึ่งล้วนแต่เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบเผาผลาญ และเราสามารถป้องกันปัจจัยเหล่านี้ได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย งดดื่มเหล้า และงดสูบบุหรี่
  • ทานอาหารที่มีวิตามิน B สูงๆ เช่น ผักใบเขียว ธัญพืช ข้าวซ้อมมือ หรือถ้าจำเป็นก็สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อขอรับวิตามินเสริมมาทานได้
  • หากเรารู้สาเหตุที่แน่นอนของอาการชา และสามารถควบคุมปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ได้แล้ว ก็อาจหาตัวช่วยที่ปลอดภัย อย่างยาสมุนไพรที่ช่วยลดอาการชาและปวดตามข้อมารับประทานได้ โดยยาแผนโบราณดังกล่าวควรมีส่วนประกอบธรรมชาติที่ผ่านการรับรองแล้วว่าปลอดภัยด้วย

อย่างที่เราทราบกันแล้วว่า บางครั้งอาการชาตามร่างกายก็อาจบ่งบอกถึงโรคที่รุนแรงได้ โดยเฉพาะเมื่อเกิดกับร่างกายทั้งซีก หรือมาพร้อมกับอาการอื่นๆ เช่น เวียนหัว หน้ามืด แขนขาอ่อนแรง ดังนั้น ถ้าเกิดอาการชาขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุและมีลักษณะที่แปลกไปจากปกติ ก็ควรรีบไปหาหมอเพื่อตรวจหาสาเหตุโดยด่วน

ปรึกษาปัญหาสุขภาพ