fbpx

เส้นเลือดขอดที่ขา เกิดจากสาเหตุอะไรบ้าง?

ป้องกัน เส้นเลือดขอด

เส้นเลือดขอดตามน่องขาและข้อพับ เป็นปัญหาอันดับต้นๆ ที่ทำให้สาวๆ หลายคนขาดความมั่นใจจนไม่กล้านุ่งสั้นอวดเรียวขา แต่รู้หรือไม่ว่าปัญหานี้ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อเรื่องความสวยงามเท่านั้น เพราะเส้นเลือดขอดนั้นเป็นสัญญาณหนึ่งของความผิดปกติของหลอดเลือดดำ ซึ่งหากปล่อยไว้นานก็อาจทำให้น่องขาบวม คล้ำ มีอาการปวด เดินไม่สะดวก จนอาจถึงขั้นกลายเป็นแผลติดเชื้อเลยก็ได้

เส้นเลือดขอด คืออะไร?

เส้นเลือดขอด หรือ Varicose veins เป็นภาวะความผิดปกติของหลอดเลือดดำบริเวณขา ซึ่งเกิดจากการที่เลือดไหลเวียนไม่สะดวก ทำให้มีแรงดันในหลอดเลือดดำมากเกินไป หรือเกิดจากลิ้นเปิด/ปิดเล็กๆ ภายในหลอดเลือดทำงานบกพร่อง ทำให้เลือดที่ควรจะถูกส่งจากขาขึ้นไปยังหลอดเลือดดำใหญ่และไหลเวียนต่อไปยังหัวใจ ไม่สามารถลำเลียงได้อย่างสมบูรณ์ เลือดจึงไหลย้อนกลับมาคั่งค้างอยู่ที่ขา ทำให้เห็นเป็นเส้นเลือดขอดลักษณะคดเคี้ยวปูดบวม มีสีแดง ม่วง และเขียว ปรากฏอยู่ตามน่อง ต้นขา และข้อพับขานั่นเอง

เส้นเลือดขอดที่ขา

ปัจจัยเสี่ยงของเส้นเลือดขอดที่ขา

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดเส้นเลือดขอดที่ขา ได้แก่

    1. อายุที่มากขึ้น เมื่อเราแก่ตัวลง ผนังหลอดเลือดจะค่อยๆ สูญเสียความยืดหยุ่น และลิ้นภายในหลอดเลือดก็เริ่มเสื่อมสภาพ ทำให้เลือดมีโอกาสไหลย้อนกลับมาค้างอยู่ในหลอดเลือดดำที่ขาได้
    2. การยืนหรือเดินนานๆ ขณะยืนหรือเดิน เลือดจะไหลขึ้นสู่หลอดเลือดดำใหญ่ได้ยากขึ้น เนื่องจากถูกแรงดึงดูดดึงให้กลับสู่ส่วนล่างของร่างกาย คนที่ทำอาชีพที่ต้องยืนหรือเดินนานๆ อย่างแพทย์ พยาบาล พนักงานแคชเชียร์ หรือแอร์โฮสเตส จึงมีความเสี่ยงต่อโรคเส้นเลือดขอดมากกว่าคนอื่นๆ
    3. น้ำหนักตัวมาก แรงกดจากน้ำหนักตัวที่มากเกินไป จะทำให้แรงดันภายในหลอดเลือดดำสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งส่งผลให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวกและกลับมาคั่งค้างอยู่ในหลอดเลือด
    4. การตั้งครรภ์ ขนาดของมดลูกที่โตขึ้น น้ำหนักตัวที่มากขึ้น รวมถึงความแปรปรวนของฮอร์โมน จะทำให้ความดันในหลอดเลือดเกิดความเปลี่ยนแปลงและส่งผลให้เลือดไหลช้าลงได้ อย่างไรก็ตาม เส้นเลือดขอดที่เกิดขณะตั้งครรภ์มักจะหายเองได้หลังคลอดลูก
    5. ฮอร์โมนเพศหญิง จากสถิติพบว่าผู้หญิงเป็นโรคเส้นเลือดขอดได้มากกว่าผู้ชาย ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากฮอร์โมนเพศหญิงนั่นเอง
    6. พันธุกรรม คนที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคเส้นเลือดขอดจะมีความเสี่ยงต่อโรคนี้มากกว่าคนอื่นๆ ถึง 2 เท่า แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมและปัจจัยอื่นด้วย
    7. ขาดการออกกำลังกาย เนื่องจากคนที่ไม่ค่อยได้ขยับเคลื่อนไหวร่างกายมีโอกาสที่หลอดเลือดบริเวณขาจะเสื่อมสภาพได้เร็ว และทำให้การไหลเวียนเลือดติดขัด 
    8. การกดทับบริเวณขา การกระแทก บีบรัด หรือกดทับบริเวณขา อย่างการนั่งไขว่ห้างบ่อยๆ ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เลือดไหลเวียนได้ไม่ดี รวมถึงการจิกเกร็งเท้าจากการใส่รองเท้าส้นสูงเป็นประจำ ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเส้นเลือดขอดที่ขาได้เช่นกัน

ข้อแนะนำสำหรับคนเป็นเส้นเลือดขอด

สำหรับคนที่เป็นเส้นเลือดขอดที่ขาในระยะเริ่มแรก ซึ่งเส้นเลือดยังไม่ปูดบวมคล้ำ หรือมีอาการปวดใดๆ ก็สามารถใช้วิธีบรรเทาเบื้องต้นและป้องกันไม่ให้อาการรุนแรงขึ้นได้ โดยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนัก หลีกเลี่ยงการยืนหรือเดินนานๆ หลีกเลี่ยงการใส่ส้นสูงและการนั่งไขว้ห้าง รวมถึงใช้การนอนยกขาสูง ซึ่งจะช่วยให้เลือดไหลเวียนดีขึ้นได้

ส่วนคนที่เริ่มมีอาการปวด ก็สามารถลดความรุนแรงได้ด้วยการใส่ถุงน่องทางการแพทย์เพื่อป้องกันเส้นเลือดขอด หรือหากเส้นเลือดเริ่มขดและนูนออกมา ก็ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรักษาตามแนวทางขั้นต่อไป เช่น การทานยา การฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ การเลเซอร์ และการผ่าตัด เป็นต้น 

Facebook : glacier59
Contact : glacier59   


ปรึกษาปัญหาสุขภาพ